OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Maki House บ้านรีโนเวทขนาดพอดี ที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเป็นตัวเองได้มากที่สุด

Location: Chokchai 4, Ladprao Bangkok Thailand
Owner: Prem Chatmanop, Wasinee Chatmanop
Architect: คุณหนุ่ม สิทธิชัย ชมภู จาก PERSPACETIVE
Photograps: Anan Naruphantawat         

ความรู้สึกสบายใจเป็นความรู้สึกแสนพิเศษที่หลายคนโหยหา และหนึ่งในสถานที่ที่สร้างความสบายใจให้เรามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ‘บ้าน’ เพราะนั่นหมายถึงเราสามารถพักผ่อน ปลดปล่อย และเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคิดอะไรมากเป็นพิเศษ ซึ่งหากเรามีความรู้สึกนั้น ก็คงถือว่าเพียงพอแล้วที่สถาปัตยกรรมที่เรียกว่า ‘บ้าน’ นี้จะตอบสนองต่อการอยู่อาศัย ซึ่ง คุณหนุ่ม สิทธิชัย ชมภู สถาปนิกจาก PERSPACETIVE ก็ถือเป็นอีกหนึ่งคนที่มองว่าความเป็นตัวเองของผู้อยู่อาศัยนั้นสำคัญ จึงนำมาเป็นโจทย์หลักในการออกแบบบ้าน Maki House หลังนี้

คุณหนุ่ม สิทธิชัย  ชมภู สถาปนิกจาก PERSPACETIVE

จากคีย์เวิร์ดในหนังสือสู่ทิศทางของงานออกแบบ
“ เริ่มแรกที่เราเข้าไปที่ไซต์ จะเห็นช่องแสงของตัวพื้นที่กลางบ้านติดกับพื้นที่รกร้างด้านข้าง เวลาแสงมันตกกระทบกับสวน ผ่านกระจก ทำให้เรารู้ว่าพื้นที่กลางบ้านมันมีศักยภาพบางอย่างที่มันน่าสนใจ ซึ่งผมนึกไปถึงวรรณกรรมสมัยเรียนชื่อ The Keys to the Kingdom ของ garth nix เขาให้นิยามของตัวบ้านเป็นเหมือนศูนย์กลางของจักรวาล เราตีความของคำว่าศูนย์กลางของจักรวาลว่าถ้าผู้ใช้งานรู้สึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล มันหมายความว่าเราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุดในพื้นที่บ้านของเรา อันนี้มันน่าสนใจ ฉะนั้นมันจะมาตอบโจทย์ในเรื่อง mood & tone ของตัวบ้านและทิศทางของงานดีไซน์ของเราคุณหนุ่มเล่าให้เราฟังถึงแนวทางของการออกแบบบ้านหลังนี้ เมื่อได้เห็นถึงบริบทของพื้นที่



นอกจากแนวคิดที่สถาปนิกสรรหามาเป็นแนวทางในการออกแบบ อีกหนึ่งโจทย์หลักที่ต้องเจอในทุกการออกแบบบ้านย่อมเป็น Owner ซึ่งมักจะเป็นผู้อยู่อาศัยนั่นเอง โดยบ้าน Maki House หลังนี้ถือว่าเปิดโอกาสให้สถาปนิกได้ออกแบบอย่างเต็มที่ เนื่องจากทาง owner มีเพียงความต้องการพื้นฐานของบ้านทั่วไป อย่างห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัวที่มีทั้งครัวไทยและครัวฝรั่ง และห้องนอน  ซึ่งรวมถึงห้องนอนหลัก ห้องนอนสำหรับลูกในอนาคต และห้องนอนเพิ่มเติมสำหรับรองรับแขกในบางเวลาด้วย


การออกแบบฟังก์ชันภายในบ้านจาก ‘ข้อจำกัดของบ้านรีโนเวท’
ด้วยลักษณะของบ้านเดิมหลังนี้ วัสดุ กำแพง เพดานจะค่อนข้างทรุดโทรมและนำมาใช้ใหม่ได้ยาก แต่โครงสร้างหลักๆ ของตัวอาคารยังค่อนข้างดีอยู่ในระดับนึง อีกปัญหาหนึ่งที่เจอในบ้านหลังนี้คือ ระดับของพื้นที่บ้านเดิมกับระดับถนนค่อนข้างต่างกัน ซึ่งระดับของบ้านเดิมนั้นค่อนข้างต่ำ คุณหนุ่มจึงต้องเปลี่ยนโครงสร้างของบ้านด้วยการยกพื้นขึ้น แต่โครงสร้างหลักๆ ส่วนอื่นเนื่องจากยังสามารถใช้งานได้ดีอยู่ คุณหนุ่มจึงเลือกที่เก็บรักษาโครงสร้างเดิมเอาไว้




จากที่เราเห็นบริบทของตัวบ้าน ซึ่งเป็นเหมือนบ้านทั่วไปที่สามารถเห็นได้ในกรุงเทพฯ ด้านข้างทั้งสองฝั่งของบ้านและด้านหลังจึงเป็นพื้นที่ของเพื่อนบ้านซึ่งมีวิวที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งคุณหนุ่มบอกกับเราว่า ข้อดีของบ้านหลังนี้ คือ มีพื้นที่สวนภายนอก ถึงแม้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่นัก แต่ก็ทำให้คุณหนุ่มเห็นศักยภาพบางอย่าง จึงออกแบบวางฟังก์ชันโดยเลือกใช้พื้นที่จุดศูนย์กลางของบ้านซึ่งติดกับสวนเป็นจุดเริ่มต้น แล้วจึงวางพื้นที่ใช้สอยในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องนอน ภายในชั้นหนึ่งให้อยู่ในบริบทของกรอบของโครงสร้างเก่า ซึ่งข้อดีคือโครงสร้างเก่าคือขนาดค่อนข้างกว้างขวาง และเพียงพอต่อสเกลของผู้อยู่อาศัยที่อยู่กันสองคน (ไม่รวมในอนาคตที่จะมีลูก)

แปลนบ้าน Maki House ชั้น 1 

แปลนบ้าน Maki House ชั้น 2

ซึ่งจากการเข้าถึงของฟังก์ชันในบริเวณชั้นหนึ่ง จะเริ่มจากบริเวณที่จอดรถและเชื่อมมาสู่บริเวณห้องโถงเล็กๆ ที่เป็นจุดวางรองเท้าสำหรับเตรียมตัวในบริเวณทางเข้า-ออกนอกบ้าน จากนั้นจึงเชื่อมมาสู่พื้นที่นั่งเล่น พื้นที่นั่งรับประทานอาหาร พื้นที่นั่งทำงาน และบาร์เล็กๆ โดยพื้นที่ทั้งหมดนี้จะเป็นพื้นที่แบบ Open plan ที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ส่วนต่างๆ ได้ชัดเจน และสามารถเชื่อมไปยังพื้นที่ระเบียงไม้สู่สวนด้านนอกได้ อีกหนึ่งฟังก์ชันหลักๆ ของบริเวณชั้นหนึ่งคือส่วนของห้องนอนแขก โดยมีห้องน้ำที่แยกของแขกและของผู้อยู่อาศัยหลักเพื่อความเป็นส่วนตัวมากขึ้น




ส่วนบริเวณชั้นสองจะเป็นฟังก์ชันที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวทั้งหมด อย่างส่วนของพื้นที่ห้องนอน รวมถึงห้องพระ โดยสามารถเข้าถึงได้จากบริเวณบันไดบริเวณกลางบ้านซึ่งเป็นโครงสร้างเดิมที่สามารถเชื่อมมายังห้องนอนทางฝั่งซ้ายและขวา ซึ่งเป็นฟังก์ชันห้องนอนที่รองรับแขก และห้องนอนสำหรับลูกในอนาคต ส่วนฝั่งที่ติดกับสวนทั้งหมดจะเป็นฟังก์ชันของห้องนอนหลัก โดยจะมีส่วนที่เป็นห้องนอน ส่วน walkin-closet และส่วนห้องน้ำ ซึ่งสามารถมองเห็นพื้นที่สีเขียวได้




การลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นสู่รูปลักษณ์เรียบง่ายของบ้าน

จากขั้นตอนของการออกแบบ คุณหนุ่มเองบอกกับเรา จุดเริ่มต้นของงานดีไซน์ของบ้านหลังนี้ ขั้นตอนของวิธีคิด แนวคิดมันเริ่มมาจากการจัดการพื้นที่ภายใน ภายในบริบทของตัวบ้านและข้อจำกัดของโครงสร้างของตัวบ้านเดิม มันจึงเหมือนการเล่นเกมส์การจัดเรียงพื้นที่จากประเด็นเหล่านี้ คุณหนุ่มจึงเลือกที่จะเอารูปแบบของงานดีไซน์ไว้หลังสุด ซึ่งรูปลักษณ์ของตัวบ้านจะค่อยๆ มาจากการจะจัดวางพื้นที่ โดยอาจจะมีความคิดที่เชื่อมโยงหรือขนานกันไปบางส่วน เช่น ด้านหลังบ้านส่วนมากจะเป็นช่องปิดเนื่องจากวิวที่ไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนด้านทิศเหนือจะออกแบบโดยการใช้ระเบียงทางเดินมาคั่นเพื่อสร้างระยะห่างจากบ้านข้างๆ ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายในบ้านมากขึ้น



ซึ่งนอกจากการทำงานของฟังก์ชันที่ทำให้เกิดรูปลักษณ์ของบ้านคร่าวๆ แล้ว คุณหนุ่มยังมองเห็นถึงรายละเอียดที่อยากรักษาเอาไว้ ซึ่งนั่นก็คือ โครงสร้างบ้านเดิมที่เป็นรูปจั่ว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่เราเห็นกันบ่อยๆ โดยนำมาตีความใหม่ให้มีความโมเดิร์นมากขึ้นโดยลดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นทิ้งทั้งหมด จึงเป็นที่มาของบ้านหลังคาทรงจั่ว เรียบง่าย สีขาวที่เราเห็นกันนั่นเอง


นอกจากนั้นคุณหนุ่มยังเลือกใช้เหล็ก C-channel  มาทำเป็นเส้นบางๆ บริเวณกันสาดเพิ่ม เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับงานดีไซน์และยังช่วยลดทอนความแข็งของตัวบ้านลง และบริเวณครีบด้านหน้าของบ้าน ซึ่งถือเป็นองค์กอบที่ช่วยทั้งในเรื่องของงานดีไซน์ให้มีความสวยงามด้วยรายละเอียดที่มากขึ้น และยังมีฟังก์ชันที่ช่วยกรองแสงให้กับบริเวณห้องนอนได้

ด้วยรูปลักษณ์ของตัวบ้านที่มีความเรียบง่าย เน้นฟังก์ชันการใช้งานของพื้นที่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของ Owner ซึ่งนั่นก็ถือว่าตอบโจทย์ทั้งผู้อยู่อาศัยและสถาปนิกที่มองว่าบ้านที่พอดีกับผู้อยู่อาศัย ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ อลังการ แต่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ดึงความเป็นตัวของตัวเองออกมา จนเกิดเป็นความสบายใจที่จะอยู่อาศัยภายในบ้านนั่นเอง

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading